วันพฤหัสบดีที่ 31 มกราคม พ.ศ. 2556

Hack โง่ๆกับ Nike+ iPod


คนที่ชอบออกกำลังกายด้วยการวิ่ง คงจะรู้จัก เจ้า Nike+ iPod กันดี

มันคือเซนเซอร์ที่ใส่อยู่ในรองเท้าวิ่ง ภาษา Smartphone เค้าเรียก Accelerometer นั่นแหละครับ อันเดียวกัน 

หน้าตามันก็ประมาณนี้ หนาประมาณ 4-5 มิลลิเมตร ยาวซัก 2 เซนติเมตร เห็นจะได้




เจ้าเซ็นเซอร์นี้มีมานานละ ตั้งแต่สมัย iPod กันเลยทีเดียว มันถึงได้มีชื่อว่า Nike+ iPod Sensor
ใน iPod รุ่นแรกๆ ถ้าจะใช้เซ็นเซอร์ก็ต้องซื้อ Dongle มาเสียบตูด iPod
แต่รุ่นหลังๆ รวมทั้งใน iPhone จะรวมเอาเจ้า Dongle นี้เข้าไว้ในเครื่องเลย





















ตรวจสอบได้ง่ายๆ ดูในเมนู Setting ของ iPhone ก็จะเห็นเซ็ตติ้ง Nike+ iPod เด่นอยู่เลย
ระบบไร้สายที่เจ้าเซ็นเซอร์นี้ใช้สื่อสาร ไม่ใช่ bluetooth นะครับ มันเป็นระบบเฉพาะ รู้จักกันแค่คู่นี้คู่เดียว เพราะฉะนั้นขณะที่กำลังใช้งานเซ็นเซอร์ก็สามารถใช้ Bluetooth ฟังเพลงได้ไม่เกี่ยวกัน


ใช้เซ็นเซอร์แล้วได้อะไร?

สิ่งที่ทำมันก็ง่ายๆครับ มันวัดระยะทางที่เราวิ่ง
ซึ่งมีประโยชน์มากเวลาที่เราวิ่งในสถานที่ที่ไม่มีป้ายบอกระยะทาง
ปกติคนเราเวลาออกกำลังกายก็จะมีขนาดความหนักหน่วงของตัวเอง เช่นวิ่งรอบสวนลุม รอบใหญ่จะรอบละ 2.50 กิโลเมตร แบบนี้เราจะพอวัดได้ว่าเราวิ่งไปเท่าไหร่แล้ว
ทีนี้ถ้าเราไปวิ่งในสถานที่แปลกๆ ถ้าไม่มีระยะทางบอก ก็เกิดอาการวิ่งไม่ถูก

เจ้าเซ็นเซอร์ก็ทำหน้าที่นี้แหละ วัดระยะทาง บอกเวลา บอกความเร็วในการวิ่งในแต่ละช่วงเวลา
อัพโหลดขึ้นเว็บ Nike+ แล้วก็เอาไว้ดูประวัติการวิ่ง พัฒนาตัวเอง แชร์บอกเพื่อน หรือแข่งกับคนอื่น
กีฬาโดดเดี่ยวอย่างการวิ่งก็เกิดเป็นกิจกรรมหมู่ขึ้นมาได้


วิธีใช้ Sensor

ชื่อก็บอกอยู่แล้วว่า Nike+ ดังนั้นแน่นอนว่า ก็ต้องใช้กับรองเท้าวิ่ง Nike ซึ่งคู่ไหนใส่เซ็นเซอร์ได้ก็จะมี Logo  Nike+ แปะอยู่












ปัญหาคือ เรามี iPhone แล้วเราต้องซื้อแต่รองเท้า Nike เหรอ? มันหดหู่ไปนะ
โลกนี้ก็เลยมีกรรมวิธี Hack รองเท้าเพื่อจะให้ Nike+ Sensor สามารถใช้กับรองเท้ายี่ห้ออื่นได้
มีหลายวิธีครับ
เซ็นเซอร์อันแรกของผม ผมใช้วิธีทำเป็นซองใส่เซ็นเซอร์แล้วผูกไว้กับเชือกรองเท้า
คล้ายๆแบบนี้ ก็สะดวกดี มีคนทำขายด้วย แพงไปหน่อย แต่จะบอกว่า ทำเองก็ไม่ได้ยากอะไร
แต่และแล้ว ผมก็ทำเซ็นเซอร์อันแรกหาย .. ไปพร้อมกันซองแสนสวยที่ตัดเย็บกับมือ
(ไม่ได้หายเพราะหลุดไปนะครับ... ไม่รู้ไปวางไว้ที่ไหน)

ก็เลยเป็นที่มาของ Hack โง่ๆกับ Nike+ วันนี้
...

แรกสุดก็ไปซื้อเซนเซอร์มาก่อนจาก iStudio และ iอื่นๆทั้งหลาย
หน้าตา Package เป็นแบบนี้


 
ราคา 768 บาท ประกัน 1 ปี

อย่าไปซื้อแบบมี Dongle มานะครับ แพงกว่า และพวกเราส่วนใหญ่ก็คงไม่ได้ใช้ Dongle เพราะมีตัวรับสัญญาณมาในเครื่องแล้ว

คราวนี้ผมตัดสินใจติดตั้ง Sensor ไว้ในรองเท้า เพราะขี้เกียจตัดเย็บซองใหม่แล้ว ทำเอาภูมิใจครั้งเดียวพอ.. เหนื่อย

แผนการก็คือทำให้พื้นรองเท้ามีช่องใส่เซ็นเซอร์แบบรองเท้าไนกี้เป๊ะ!.. เหมือนกันแบบหน้าไม่อายเลยทีเดียว
ปกติรองเท้าวิ่งทั่วไป ก็จะสามารถถอดพื้นออกมาได้อยู่แล้ว ลองดูสิครับ ไอ้นิ่มๆที่เราเห็นน่ะถอดได้ส่วนใหญ่ (ไม่ได้ทากาว) พื้นรองเท้าจริงๆจะแข็งๆ

จากนั้นผมใช้แผ่นยางนีโอพรีน ที่หาซื้อได้ตามถนนเสือป่าย่านคลองถม มาตัดเป็นรูปรองเท้า โดยใช้เจ้าแผ่นที่ติดกับรองเท้านั่นแหละเป็นแบบ



แผ่นนีโอพรีนที่ผมซื้อมา(ทำอย่างอื่น) มีความหนา 2mm ได้ ถ้าหาซื้อแบบ 4 mm ได้เลยก็ดี ราคาไม่แพงครับ จำได้ว่าไม่กี่สิบบาท ตัวเซ็นเซอร์หนา 4-5 mm แผ่นยางของผมหนาแค่ 2mm ก็เลยต้องซ้อน 2 ชั้น
เจาะรูตามขนาดเซ็นเซอร์เรียบร้อย วางให้อยู่ตรงกลางๆเท้า เพราะบริเวณนั้นจะโค้งไม่มีน้ำหนักกดลงไปบนรองเท้า เซ็นเซอร์เราก็จะไม่โดนฆ้อนขนาดหลายสิบกิโลครับกระแทกทุกครั้งที่ย่ำเท้าลงไป

เรียบร้อย ง่ายๆ ไม่ต้องง้อไนกี้

จริงๆแล้วภายในเซ็นเซอร์นั้นเป็นแบตตารี่แบบ เหรียญ Lithium นะครับ

ใช้ๆไปแบตหมด ก็ต้องจ่ายเงินอีก 768 บาท 
ถ้าไม่อยากเสียเงินก้อน สามารถแงะภายในมาเปลี่ยนถ่านเองได้ มีคนทำเยอะแยะ ยังไงมันก็ซ่อนๆอยู่ ไม่ได้โชว์ใคร จะยับเยินไปบ้าง ใครจะรู้เนอะ..

จริงๆแล้วหลายคนบอกว่าเซนเซอร์แบบนี้แทบไม่จำเป็นแล้ว
เพราะในโทรศัพท์เราก็มี Accelerometer อยู่
Nike เองก็รับแนวคิดนี้ และออกโปรแกรม Nike+ Running ออกมา (โหลดฟรี) App นี้ไม่ต้องใช้เซ็นเซอร์ แต่วัดการการแกว่งโทรศัพท์ตอนวิ่ง... นั่นแปลว่า เราต้องกำโทรศัพท์วิ่งตลอดเวลา
... ผมยอมจ่าย 768 บาทครับ กำโทรศัพท์วิ่ง ไม่ใช่รสนิยมของผม



หลายคนก็บอกว่า ก็โทรศัพท์มี GPS แล้วไง GPS ก็วัดระยะทางได้แบบหล่อๆเลย มีเส้นทางอีกต่างหาก
App หลายตัวที่ทำแบบนี้ก็มี Endomondo, Strava และก็ตัว Nike+ Running เอง
ก็จะบอกอีกว่า ใช้ GPS มันหล่อก็จริง แต่มันเปลืองแบต iPhone ที่มีจำกัดมากๆ แถมบางที วิ่งผ่านร่มไม้ วิ่งผ่านหลังคา ตำแหน่งมันกระโดดเอาซะดื้อๆ
แบบเจ็บแสบที่เคยเจอ คือไปวิ่งที่เขาใหญ่ ทิวทัศน์อย่างหล่อ ก็กะจะบันทึกเส้นทางการวิ่งไว้เป็นเกียรติประวัติ แต่เจ้ากรรม App มัน Hang เอาซะตั้งแต่ 500 เมตรแรก แล้วผมก็ไม่รู้ตัว วิ่งจนจบ.. ขอบใจมาก
อาการ Hang แล้วเงียบนี่เกิดบ่อยเหมือนกัน จนผมรับไม่ได้ วิ่งเส้นทางประวัติศาสตร์แล้วหายจ้อยนี่ อย่างโกรธ

เจ้า Nike+ Sensor นี้จะต้องใช้กับ App Nike+ iPod ที่โหลดได้ฟรีจาก App Store เช่นกัน

แต่ผมเลือกจะใช้มันกับนาฬิกา Nike+ Sportwatch

ตัวนี้ สีนี้เลย นาฬิกาใช้เซ็นเซอร์ร่วม ทั้ง Shoe Sensor, GPS แถมมีเซ็นเซอร์วัดการเต้นของหัวใจอีก
พล็อตกราฟเส้นทาง เวลา ความเหนื่อยอะไรได้ล้านแปด ทำให้ควบคุมจังหวะการวิ่งได้ดี เห็นว่าผลงานเป็นยังไง



แล้วเจอกันบน Nike+, Strava, DailyMile และ Endomondo นะครับ
(เว็บไซท์ Social Sport สมัยนี้เยอะจริงๆ)


Update 1: หลังจากทดลองใช้วิ่งมา 2-3 วันพบว่า ด้วยความหนาของพื้นที่เพิ่มขึ้น 4 mm แม้เราจะขยายเชือกรองเท้าออกได้ แต่แถวๆหัวรองเท้า จะขยายไม่ได้ เลยรู้สึกว่าแน่นนิดๆ

วิธีแก้คือ ผมเอาแผ่นนิโอพรีน แผ่นล่าง (จาก 2 แผ่นที่ซ้อน) ตัดพื้นที่ที่เป็นนิ้วเท้าออก
เพราะบริเวณที่ัมันแน่น คือบริเวณที่เลยเชือกรองเท้าไปแล้ว ก็คือบริเวณนิ้วเท้าพอดี
ใส่แล้วก็โอเค ไม่แน่นแล้ว

สรุป  เท้าใครเท้ามัน รองเท้าใครรองเท้ามัน สถานการณ์คงไม่เหมือนกันครับ ปรับแต่งกันเอาครับ