วันศุกร์ที่ 9 ธันวาคม พ.ศ. 2554

มารู้จักกับ TPMS (Tire Pressure Monitoring System)

ผมว่าคำนี้ค่อนข้างใหม่สำหรับเมืองไทย พูดไปไม่ค่อยมีใครรู้ แม้แต่พ่อค้าคลอมถม ซึ่งเป็นตลาดนัดของแต่งรถระดับไม้จิ้มฟันยันเรือรบ

TPMS พูดให้สั้นๆก็คือระบบวัดลมยางแบบ Realtime และออนไลน์!!



หลายคนคงนึกว่า เป็นอุปกรณ์สำหรับเซียนยาง บ้ายางรถยนต์.. เดี๋ยวก่อนครับ ผมไม่ได้บ้ายางรถยนต์ ไม่ได้สิงอยู่เว็บบอร์ดยางท่องรุ่นยางได้หมด และที่สำคัญ ผมก็ไม่ได้ประสาทอยากรู้ความดันลมยางตลอดเวลาขนาดนั้น TPMS มันไม่ได้ใช้งานแบบนั้นครับ


จริงๆแล้วระบบ TPMS ถือเป็นระบบความปลอดภัยในรถยนต์แบบหนึ่ง ลักษณะเดียวกับ ABS, เข็มขัดนิรภัย หรือ Airbag กันเลยทีเดียว ประเทศสหรัฐอเมริกา บังคับว่ารถยนต์ทุกคันที่จำหน่ายในประเทศ ตั้งแต่ปี 2007 จะต้องมีอุปกรณ์ตัวนี้ติดตั้งอยู่ EU กำหนดว่าจะใช้ในปี 2012

ประเด็นมันไม่ได้อยู่ที่เราอยากรู้แรงดันลมยาง แต่ไอ้ลมยางที่อ่อน อาจจะทำให้เกิดอุบัติเหตุได้ และระบบนี้จะช่วยป้องกัน โดยเตือนเราก่อนเกิดเหตุนั่นเอง เช่น ถ้ายางร้อนตอนวิ่งด้วยความเร็วสูง ถ้าเรารู้ก่อน ก็ค่อยลดความเร็วลง จากหนักก็จะผ่อนเป็นเบาได้

เมืองไทยมีเห็นมีระบบนี้อยู่เฉพาะรถยนต์รุ่นหรูๆเท่านั้น หลายคนพอ TPMS เสียกลับไม่ยอมซ่อมและหาทางปิดไฟเตือน เสียงเตือนทิ้งด้วยซ้ำ..คงเพราะอะไหล่แท้แพงเหลือเกิน แต่อีกหน่อยน่าจะมีใช้กันเยอะ เพราะมีประโยชน์จริงๆ GPS หลายรุ่นก็เริ่มมีออปชั่น TPMS กันแล้ว ทำให้ไม่ต้องเปลืองพื้นที่ติดตั้งจอแสดงผลแยกต่างหากอีกจอหนึ่ง


ฟังก์ชันของ TPMS จริงๆคือ
  • ลดการเกิดยางระเบิดจากยางรั่ว ยางแตก ยางระเบิดจากอุณหภูมิสูง
  • เตือนยางแตกเมื่อวิ่งทับของที่เจาะเนื้อยางได้
  • ช่วยประหยัดน้ำมันจากการวิ่งยางลมอ่อน
  • เตือนยางซึม

ซึ่งการวัดยางแบบธรรมดา ไม่สามารถบอกได้ ทำไมน่ะเหรอครับ..
  • ตอนรถจอด อุณหภูมิของยางและความดันจะไม่เท่ากับตอนที่วิ่งด้วยความเร็วสูง ดังนั้นตอนจอดวัดไปก็ไม่ถูก และคงไม่มีใครสามารถวัดลมยางตอนรถวิ่งได้
  • ยางรั่วขณะวิ่ง เช่นไปทับตะปู การวัดแบบธรรมดาจะไม่สามารถเตือนได้ จะรู้ตัวอีกทียางก็แบนหรือขาดไปแล้วด้วยซ้ำ ต้องสังเกตรถตัวเองเป็น
  • การที่จะบอกได้ว่าตอนนี้ยางอ่อนแล้ว เราต้องขยันมากๆ พยายามวัดทุกล้อ ใครทำได้ทุกวันก็โครตเก่งแล้วครับ แถมตอนวัดยังทำลมรั่วออกอีกต้องเติมคืน สรุปคือไม่น่าจะมีมนุษย์คนไหนทำได้นั่นเอง

ระบบวัดลมยางนั้นมีหลายแบบ ทั้งแบบที่ประมาณเอาจากความเร็วรอบของยาง (ซึ่งมีความถูกต้องในการวัดต่ำหน่อย) และแบบที่เอาเซ็นเซอร์ไปติดตั้งที่ยางรถยนต์เลยจริงๆนั่นคือ TPMS

แบบที่เราจะพูดกันวันนี้จะเป็นแบบเซ็นเซอร์นะครับ
ซึ่งก็มี 2 แบบ อีกแล้ว คือแบบติดตั้งภายในยาง และแบบที่เป็นจุดอุดลม ขันปิดอยู่นอกยาง
แบบติดตั้งภายในยาง

แบบจุกอุดลม



ระบบเซ็นเซอร์พวกนี้ ทำงานแบบไร้สายครับ ภายในมีแบตตารี่อายุใช้งาน 5 ปี อยู่ การสื่อสารจะทำโดยใช้ความถี่สื่อสารระยะสั้น เช่นความถี่ 433 MHz ทำให้การติดตั้งง่ายมาก ไม่ต้องยุ่งกับการเดินสายสัญญาณ

ตัวที่ผมซื้อมาใช้มีหน้าตาแบบนี้ เป็นยี่ห้อ Royceed  WT110
สาเหตุที่เลือกแบบนี้คือ
1. ดีไซน์ มันหลุดโลกน้อยสุด ขนาดบาง และน่าจะเนียนเข้าไปกับรถได้ง่าย
2. มันเป็นแบบติดตั้งถาวร ใช้ไฟ 12 Volt จากรถ รองรับสัญญาณจากสวิตซ์กุญแจ ดังนั้นมันก็เลยเปิดปิดเอง สะดวกดี แต่ก็ต้องเดินสายไฟให้มัน ซึ่งสามารถไปต่อออกมาจากหลังวิทยุได้เลย ร้านประดับยนต์ ร้านเครื่องเสียงรถน่าจะทำเป็นกันหมด


จริงๆยังมีอีกแบบ ที่ติดตั้งง่ายหน่อย คือ ใช้ไฟจากที่จุดบุหรี่ ซึ่งสะดวกมาก เหมือน GPS เลย หาที่วางเครื่อง แล้วเสียบไฟก็เวิร์คเลย สามารถย้ายไปใช้รถคันอื่นได้ (ต้องเป็นแบบเซ็นเซอร์จุกอุดลมด้วยนะครับ)

บางคนคิดแบบนี้จริงๆ คือคิดว่า อุปกรณ์แบบนี้มันจำเป็นเฉพาะเวลาเดินทางไกล ก็เลยมีชุดนึงประจำบ้าน ใครจะเดินทางไกลก็หยิบเอาไปใช้

แต่ผมว่ามันคล้ายๆ GPS ตอนช่วงแรกๆ คือเป็นของใหม่ ไม่กล้าซื้อ ยืมๆกันไปก่อน นานๆเข้า ก็มีกันคันละชุด เพราะมันสะดวกกว่า และมันก็ไม่ได้แพงมโหฬารอะไร


แกะกล่องมาหน้าตาแบบนี้เลย มีจอแสดงผล เซ็นเซอร์ 4 ตัวระบุตำแหน่งซ้ายขวาหน้าหลังมาเรียบร้อย มีคู่มือ และกาวสำหรับหยอดน็อตยึดเซ็นเซอร์


การติดตั้ง
แบบติดตั้งภายใน ก็ติดตั้งแทนจุกเติมลมอันเดิมไปเลย ติดตั้งเสร็จก็ต้องถ่วงล้อใหม่ เพราะมีน้ำหนักประหลาดเพิ่มเติมมาอีก แนะนำนิดนึงว่า ช่างที่ติดต้องเคยทำมาก่อน หรือไม่ก็ต้องบอกให้เขาระวังเป็นพิเศษ
เพราะตอนที่ขอบยางดีดข้ามขอบล้อ อาจจะไปฟาดโดนเซนเซอร์ ซึ่งก็ถึงกับทำให้แตกได้ โชคดีที่ร้านที่ผมเอาไปทำเขาเคยติดมาก่อน ก็เลยเนียนไป

Note: หลังจากทำมาหลายครั้ง ค้นพบวิธีบอกช่างง่ายๆแล้วว่า อย่าเอาชะแลงไปงัดบริเวณที่มีจุ๊บลม .. จบ
คือเวลาถอดยาง ช่างจะเอาชะแลงงัดไปรอบๆยาง เพื่อให้ขอบยางปีนข้ามขอบกระทะ ก็แค่ให้เค้าเว้นช่วงที่มีจุ๊บลม (ซึ่งมีเซ็นเซอร์อยู่).. จบ

ตัวหน้าจอ ผมก็จัดการติดบนคอนโซลข้างพวงมาลัย ใต้ dashboard
ใครสังเกตจะเห็นว่า เจ้า display สีมันเปลี่ยนไป ผมจัดการเลื่อยขาตั้งออก แล้วพ่นสีดำทับ เพื่อทำให้มันกลืนกับรถที่สุด



ทดสอบกันเลย
หลังจาก ติดตั้งเซนเซอร์ในล้อ ถ่วงล้อ และติดตั้งจอแสดงผลแล้ว เราก็เปิดเครื่องกันเลย

จริงๆตัวเครื่องมีอะไรให้เราเซ็ตได้นิดหน่อย เช่น
- เปลี่ยนหน่วยแรงดันลม PSI / Bar
- เปลี่ยนหน่วยอุณหภูมิ องศา C / องศา F
- มีเมนูให้เราสลับตำแหน่งยาง

แต่เดิมๆมาก็เป็น PSI / องศา C อยู่แล้ว ดังนั้นก็ไม่ต้องเซ็ตอะไร


เปิดเครื่องมา มันจะหาสัญญาณอยู่ซักพัก หน้าจอแสดงแรงดันของล้อทั้ง 4 ในหน่วย PSI
กดปุ่มหนึ่งที ก็เปลี่ยนมาแสดงอุณหภูมิ 4 ล้อ


ทดลองเติมลม ตามที่คู่มือรถแนะนำคือ หน้า 32 หลัง 38 PSI
ผลก็คือจอแสดงผลแสดงออกมาแบบนี้


เซ็นเซอร์ประเภทนี้มีอัตราความถูกต้องอยู่ที่ +/- 0.5 PSI ดังนั้นก็แต่ละล้อก็อาจมีส่วนต่างบ้าง เพราะตอนเราเติมลมเข้าไปก็ไม่ได้แม่นยำอะไรมาก จะเห็นว่าล้อหน้าขวา แรงดันจะสูงกว่าที่ตั้งใจไว้ 1 PSI น่าจะเป็น error ทั้งตอนเติม ตอนวัดขณะเติมและ error ของเซนเซอร์เอง

ถ้าเกิดเหตุที่จะแจ้งเตือน หน้าจอจะเปลี่ยนเป็นสีแดงและมีเสียง beep เตือน
(ขออภัย ไม่ได้ถ่ายรูปไว้)

เงื่อนไขการเตือนก็มีอยู่ ตามนี้
- แรงดันลมอ่อนกว่าค่าที่ตั้งไว้ 25%
- แรงดันลมสูงกว่าที่ตั้งไว้ 40%
- ลมรั่ว (ลมหายไปมากกว่า 3PSI ใน 20 วินาที)
- อุณหภูมิลมในยางเกิน 80 องศาเซลเซียส
- เซนเซอร์แบตตารี่อ่อน
- หาเซนเซอร์ไม่เจอ

หลายคนอาจจะอยากลองเริ่มใช้โดยเลือกเซนเซอร์แบบจุกลม
แบบนี้ง่ายดี แต่ก็โดนขโมยง่ายนะครับ
แถมความถูกต้องของการวัดอุณหภูมิก็มีความผิดพลาดสูง เพราะตัวเซนเซอร์อยู่นอกยาง


ก่อนที่จะติดตั้ง TPMS ชุดนี้ผมเพิ่งเสียยางไป 1 เส้นเพราะลมอ่อน และวิ่งบดอยู่หลายร้อยเมตรจนยางขาด โชคดีที่ไม่วิ่งด้วยความเร็วสูง ระบบแบบนี้นอกจากจะช่วยให้ประหยัดน้ำมัน ช่วยลดอุบัติเหตุจากยางแล้ว ยังอาจจะทำให้คุณไม่ต้องเสียเงินค่ายางที่วิ่งบดแบบผม ผมว่าน่าจะหามาลองดูนะครับ

ปล. ค่าตัวระบบ WT110 ซื้อมาจากเว็บในราคา 4,500 บาท ใครซื้อได้ถูกกว่านี้ ไม่ต้องมาบอกให้เจ็บใจ...555 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น